การพัฒนาศักยภาพอาจารย์ในการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้วยจิตตปัญญาศึกษา : กรณีศึกษาโครงการสอนนอกกรอบ : ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน สำหรับอาจารย์ในกลุ่มวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สถาบันพระบรมราชชนก (The Development of Capacities of Teachers in Transformative Learning Management by Contemplative Education Approach: The Case Studies of the “Teach out of the Box: Transformative Teachers from Within” Project for Teachers in the Boromarajonani Colleges of Nursing, Praboromarajchanok Institute)

Hand

Experiences Practical

ศักดิ์ชัย อนันต์ตรีชัย และ อริสา สุมามาลย์

บทคัดย่อ

งานวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนากระบวนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรอาจารย์ในการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้วยจิตตปัญญาศึกษา 2) เพื่อศึกษาผลของการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงของอาจารย์ ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง และการนำไปพัฒนาการเรียนการสอน โดยมี 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) ขั้นวางแผน (Plan) 2) ขั้นปฏิบัติและสังเกตการณ์ (Act & Observe) และ 3) ขั้นสะท้อนผล (Reflect) กลุ่มเป้าหมาย คือ อาจารย์ที่สอนในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี 4 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเพชรบุรี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครศรีธรรมราช และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง ใช้วิธีการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 24 คน ซึ่งเป็นครูที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการสอนนอกกรอบ : ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน สำหรับอาจารย์ในกลุ่มวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สถาบันพระบรมราชชนก และยินดีให้ข้อมูลแก่คณะผู้วิจัย รวบรวมข้อมูลระหว่างมีนาคม พ.ศ.2564 ถึงเมษายน พ.ศ.2565 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินตนเอง แบบบันทึกภาคสนาม แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบบันทึกการทบทวนหลังการปฏิบัติงาน และประเด็นในการสัมภาษณ์กลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา และการวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ที่ 1 เพื่อพัฒนากระบวนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรอาจารย์ในการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้วยจิตตปัญญาศึกษา พบว่า กระบวนการพัฒนาศักยภาพอาจารย์ในการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้วยจิตตปัญญาศึกษามีองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.วัตถุประสงค์ 2.ระยะเวลา 3. สื่อและอุปกรณ์ที่ใช้ 4. ขั้นตอนการจัดกิจกรรม 5. การประเมินผล โดยกระบวนการพัฒนาศักยภาพอาจารย์ในการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้วยจิตตปัญญาศึกษาแบ่งเป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในวิทยาลัยพยาบาลแต่ละแห่งเป็นจำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ 1) การตระหนักรู้ในตนเองและผู้อื่น 2) การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ 3) สอนนอกกรอบ 4) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงตนเอง รวมระยะเวลา 9 วัน หรือ 54 ชั่วโมง ต่อวิทยาลัย หรือรวมระยะเวลาในการจัดกระบวนการในวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งเป็น 216 ชั่วโมง แต่ละการอบรมจัดห่างกัน 1-2 เดือนตามความสะดวกของวิทยาลัย

ผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ที่ 2 เพื่อศึกษาผลการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงของอาจารย์ ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง และการนำไปพัฒนาการเรียนการสอน พบว่า จาก แบบประเมินตนเอง ตอบโดยอาจารย์จำนวน 41 คน (ซึ่งได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการอย่างน้อย 3 ใน 4 ครั้ง) อาจารย์ประเมินว่าตนเองมีการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นเปรียบเทียบก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการอยู่ในระดับมาก (x̄=4.38, S.D.=0.22) โดยเฉพาะข้อที่ได้คะแนนในระดับมากที่สุดมี 4 ข้อ ได้แก่ ท่านสอนให้นักศึกษามีความใส่ใจและรับฟังผู้อื่น (เช่น เพื่อน ครอบครัว ผู้รับบริการ ฯลฯ) (x̄=4.64, S.D.=0.49) ท่านสอนให้นักศึกษาเข้าใจมิติจิตใจในการพยาบาลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (x̄=4.55, S.D.=0.57) ท่านสามารถเติมพลังด้านบวกให้ตนเอง เมื่อต้องการกำลังใจได้ (x̄=4.55, S.D.=0.62) และท่านสามารถเรียนรู้ความงามในชีวิตจากธรรมชาติได้ (x̄=4.52, S.D.=0.81) ซึ่งล้วนเป็นประเด็นสำคัญของการดำเนินโครงการ อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ที่สะท้อนว่า ด้านการเปลี่ยนแปลงภายในตนเองของอาจารย์ มี 4 ด้าน ได้แก่ 1) เปิดมุมมองและวิธีใหม่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ 2) เท่าทันตนเองมากขึ้นทั้งในระดับสภาวะอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมการแสดงออก 3) ผ่อนคลายความเครียดและฟื้นพลังให้ตนเองได้ 4) ขยายพื้นที่ของใจด้วยการรับฟังผู้อื่น การเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ด้านนี้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยมีสติเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่พฤติกรรมใหม่ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเบาสบาย ทั้งภายในตัวเองและในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน นักศึกษา) เป็นผลสะท้อนกลับมาให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกชัดเจนและมั่นใจในการเปลี่ยนแปลงตนเองต่อไป ด้านการพัฒนาการเรียนการสอน พบว่ามี 3 ระดับ ได้แก่ 1) นำกิจกรรมจิตตปัญญาศึกษาไปใช้เป็นบางกิจกรรม 2) นำไปใช้ในการเตรียมตัวนักศึกษาก่อนและระหว่างการฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วย 3) นำไปบูรณาการกับเนื้อหาในรายวิชาทำให้เกิดรูปแบบการสอนใหม่ ผลลัพธ์คือ อาจารย์ยืดหยุ่นและเปิดกว้างมากขึ้น คาดหวังน้อยลง เข้าใจความรู้สึกและปัญหาของนักศึกษามากขึ้น นักศึกษาเครียดน้อยลงและเปิดใจพร้อมเรียนรู้อย่างมีความสุขมากขึ้น รวมถึงนักศึกษาเข้าใจการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น ทั้งโดยการเป็นแบบอย่างของอาจารย์เองและการสอนที่ลงลึกถึงหัวใจของผู้เรียน 

ปีที่ตีพิมพ์: 2565

แหล่งข้อมูล: ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ฉบับเต็ม: การพัฒนาศักยภาพอาจารย์ในการจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้วยจิตตปัญญาศึกษา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Articles

สุปรียส์ กาญจนพิศศาล และ ปฏิพัทธ์ อนุรักษ์ธรรม

การศึกษาทัศนคติของกระบวนกร ผู้ป่วยและผู้ดูแล ที่มีต่อกระบวนการเรียนรู้ไพ่ฤดูฝน (A Study of Facilitators, Patients and Caregivers’ attitudes towards Learning Process of Empathy Card  for Patients and Caregivers)

Heart

Experiences Non-Religion Tools

Articles

ชัชวาลย์ ศิลปกิจ และ คณะ

การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาด้วยกระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญา (Capacity Building of Educators: Contemplative Learning Approaches)

Head

Compassion Concept/Theory Experiences Feeling&Emotional Relationship

Articles

พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ และ คณะ

โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการจิตตปัญญาศึกษา

Hand

Experiences Practical

แชร์

แชร์ผ่านช่องทาง

หรือคัดลอก URL