บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อความตายของจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในโรงพยาบาลและปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อความตาย ด้วยวิธีการวิจัยแบบปรากฏการณ์วิทยา โดยทำการเก็บข้อมูลผ่านการวิจัยเอกสาร การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์เชิงลึกจิตอาสาจำนวน 25 คนที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการอาสาข้างเตียง ผลการศึกษา พบว่า การลงเยี่ยมดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือนส่งผลให้จิตอาสาส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อความตาย จากการทัศนคติเดิมที่ว่าความตายเป็นเรื่องน่ากลัวและการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก รวมถึงความตายเป็นเรื่องของความประมาทในการใช้ชีวิต กลายเป็นการเปิดใจยอมรับว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเป็นเครื่องเตือนใจให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและไม่ประมาท โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ การเปิดใจเรียนรู้ความจริงของชีวิตผ่านประสบการณ์ตรง การรับฟังและการทบทวนใคร่ครวญภายในตนเอง ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยในครั้งต่อไป คือ ควรมีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อความตายของจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในโรงพยาบาลจากโครงการอื่นที่มีการดำเนินงานในลักษณะใกล้เคียงกันรวมถึงการศึกษาความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติที่ได้รับการดูแลจากจิตอาสา
ปีที่ตีพิมพ์: 2560
แหล่งข้อมูล: Journal of Social Sciences and Humanities Research in Asia ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2560)
ฉบับเต็ม: https://so05.tci-thaijo.org/index.php/psujssh/article/view/102057