Blogs

จิตวิวัฒน์: Goethean science วิทยาศาสตร์แบบเกอเธ่

Head

Concept/Theory Non-Religion

สิรินันท์ นิลวรางกูร

เกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe) มีชื่อเสียงในฐานะนักประพันธ์เอกคนหนึ่งของโลก แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเกอเธ่ผลิตผลงานทางวิทยาศาสตร์ไว้ไม่น้อยและหลากหลาย เช่น เรื่องพืช สี เมฆ อากาศ โครงสร้างของสัตว์และพืช และธรณีวิทยา เกอเธ่เชื่อว่างานทั้งหมดนี้วันหนึ่งจะเป็นการอุทิศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาที่มีให้แก่มนุษยชาติ

ในยุคของเกอเธ่เอง งานของเขาไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากมันเคลื่อนออกจากวิธีการเชิงปริมาณและเชิงวัตถุไปสู่การเผชิญหน้าโดยตรง เป็นประสบการณ์ตรงและใกล้ชิดระหว่างผู้ที่ศึกษาและสิ่งที่ทำการศึกษา เกอเธ่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งเป็นยุคของปรัชญาแบบเดส์การ์ตส์และนิวตัน (Descartes-Newton philosophy) เป็นยุคแห่งการตื่นรู้ (Enlightenment period) สภาพแวดล้อมทางสังคมในขณะนั้นอบอวลไปด้วยพลังของการตื่นรู้จากการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ เช่น เซอร์ ไอแซค นิวตัน เรอเน เดส์การ์ตส์ เซอร์ ฟรานซิส เบคอน คาร์ล ลินเนียส จอห์น ล็อค เป็นยุคแห่งวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์และหลักเหตุผล มีการแบ่งโลกออกเป็นอาณาจักรพืช อาณาจักรสัตว์ และอาณาจักรแร่ธาตุ ซึ่งเกอเธ่กล่าวว่าไม่เข้าใจการแบ่งแยกนี้เลย เนื่องจากเขามองไม่เห็นการแบ่งแยกระหว่าง ๓ อาณาจักรนั้น เกอเธ่มองว่าทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน 

ในยุคแห่งการตื่นรู้นั้นมองว่าจักรวาลคือนาฬิกาจักรกลขนาดใหญ่ที่สามารถแบ่งแยกออกได้เป็นส่วนๆ และร่างกายมนุษย์คือนาฬิกาที่ถูกสร้างด้วยทักษะและความชำนาญ ถ้าวงล้อที่หมุนเข็มนาทีหยุดลง เข็มวินาทีก็จะยังคงเคลื่อนต่อไปตามทางของมัน และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นจะเริ่มต้นจากการศึกษากลไกหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ จากนั้นจะตั้งสมมุติฐานขึ้นมา ทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ และสุดท้ายแปลงออกมาเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าคือเครื่องยืนยันความแน่นอน ส่วนประสาทสัมผัสของมนุษย์คือที่มาของความผิดพลาด ดังนั้นวิทยาศาสตร์แบบนิวตันจึงตัดความเป็นมนุษย์ออกจากการทดลอง 

ยกตัวอย่างเช่นการทดลองเรื่องสี นิวตันต้องการศึกษาปรากฏการณ์สีที่เกิดจากแสง จึงตั้งสมมุติฐานว่าสีประกอบด้วยลูกบอลเล็กๆ ๗ สี ซึ่งสามารถแยกได้ด้วยปริซึม และทำการทดลอง ซึ่งก็เป็นไปตามสมมุติฐานที่เขาตั้งไว้ ส่วนเกอเธ่ที่ต้องการศึกษาปรากฏการณ์เดียวกัน แบ่งการทดลองออกเป็นสองส่วน คือส่วนสรีระวิทยาของนัยน์ตาซึ่งเป็นอวัยวะรับแสง และส่วนกายภาพของแสงที่ประกอบด้วยหลายชุดการทดลอง เกอเธ่ใช้เวลาทดลองอยู่หลายปีจนในที่สุดได้เป็นทฤษฎีสีที่เราใช้กันในปัจจุบัน การทดลองของเกอเธ่ไม่ได้เป็นทฤษฎีออกมา แต่ได้เป็นปรากฏการณ์ต้นฉบับ (Archetypal phenomenon) เกอเธ่อธิบายการเกิดสีว่า “เกิดจากความมืดและความสว่าง มีแต่ความมืดก็ไม่มีสี มีแต่ความสว่างก็ไม่มีสีเช่นเดียวกัน ความมืดและความสว่างเป็นสองขั้วที่แยกจากกันไม่ได้ สีเหลืองไปจนถึงแดงเกิดจากความสว่างที่ถูกเจือด้วยความมืด สีฟ้าถึงม่วงเกิดจากความมืดที่ถูกเจือด้วยความสว่าง” การทดลองของนิวตันไม่สามารถอธิบายการเกิดสีตรงข้าม (Complementary colour) ได้ แต่เกอเธ่อธิบายได้

วิทยาศาสตร์แบบนิวตันยังแสวงหาทฤษฎีและตั้งคำถามกับธรรมชาติโดยการทดลอง ชั่ง ตวง วัด ซึ่งเกอเธ่กล่าวว่าสิ่งที่ศึกษานั้นเป็นธรรมชาติที่แข็งตัว ไม่มีชีวิต เป็นเพียงโครงกระดูกของธรรมชาติ และไม่สามารถเข้าถึงหัวใจที่สร้างสรรค์และมีชีวิตของธรรมชาติได้ เกอเธ่กล่าวว่าวิทยาศาสตร์แบบนิวตันนั้นเป็นการแยกมนุษยชาติออกจากธรรมชาติ เป็นการบงการธรรมชาติ ซึ่งวิทยาศาสตร์แบบนิวตันนี้เองที่มีอิทธิพลต่อโลกตะวันตกและแผ่ขยายไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนิวตัน ยังมีนักวิทยาศาสตร์ในยุคเดียวกันที่มีอิทธิพลต่อความคิดของโลกตะวันตกและส่งผลถึงโลกในยุคปัจจุบัน ได้แก่ เรอเน่ เดส์การ์ตส์ เขากล่าวว่า “สัตว์ไม่มีจิตวิญญาณ เสียงที่สัตว์ร้องออกมาเมื่อได้รับความเจ็บปวดนั้นไม่ใช่ความเจ็บปวดเช่นเดียวกับที่มนุษย์ได้รับ เนื่องจากสัตว์เป็นเครื่องจักรกลที่ไม่มีชีวิตจิตใจ เสียงที่ร้องออกมาเป็นเพียงเสียงเครื่องจักรที่ดังเอี๊ยดอ๊าดเท่านั้นเอง” เดส์การ์ตส์เคยผ่าสุนัขแบบเป็นๆ เพื่อจะสัมผัสหัวใจในขณะที่กำลังเต้น และว่ากันว่าสุนัขตัวนั้นเป็นของภรรยาเขาเสียด้วย ส่วนฟรานซิส เบคอน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์คนหนึ่งกล่าวว่า “ธรรมชาติจะต้องถูกไล่ล่าและจับให้มาเป็นทาสแก่เครื่องมือกลไก วิทยาศาสตร์จะต้องทรมานธรรมชาติเพื่อให้มันเปิดเผยความลับออกมา” จะเห็นได้ว่าแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ ๑๘ มีอิทธิพลต่อโลกดังเช่นที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ถึงการตัดขาดจากธรรมชาติของมนุษย์ การไม่เคารพธรรมชาติ ธรรมชาติมีไว้เพื่อเสพและสนองความต้องการบริโภคของมนุษย์เท่านั้น

วิทยาศาสตร์แบบของเกอเธ่นั้นแตกต่างจากวิทยาศาสตร์แบบนิวตันอย่างสิ้นเชิง วิธีการทางวิทยาศาสตร์ของเกอเธ่เรียกว่า “Delicate empiricism” ประจักษ์นิยมเชิงละเอียดอ่อน เกอเธ่กล่าวว่า “วัตถุทางธรรมชาติควรถูกสำรวจในฐานะที่เป็นตัวของมันเอง ไม่ใช่เอื้อต่อผู้สำรวจ แต่กระทำด้วยความเคารพในฐานะสิ่งมีชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์” เกอเธ่เชื่อว่าประสาทสัมผัสของมนุษย์คือเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำที่สุด ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของเกอเธ่ใช้เพียงประสาทสัมผัสทั้งหก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ญาณทัศนะ) ของมนุษย์เท่านั้น โดยเป้าหมายสูงสุดของการทดลองคือการยกระดับจิตสำนึกของนักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เพียงผู้สังเกตการณ์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่ศึกษา ขั้นตอนวิทยาศาสตร์ของเกอเธ่เป็นการถักทอระหว่างวัตถุภายนอกและตัวตนภายใน (object-subject) มีทั้งขั้นตอนเชิงประจักษ์ที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า จากนั้นรับความเป็นวัตถุนั้นเข้ามาในตัวผู้ที่ศึกษาเพื่อกลั่นประสบการณ์ให้เข้มข้น จากนั้นผู้ที่ศึกษาถ่ายทอดความเป็นวัตถุนั้นออกมาอย่างซื่อตรง โดยเกอเธ่กล่าวว่า “ถ้ามนุษย์เชื่อมั่นในประสาทสัมผัสของเขา เขาสามารถใช้ประสาทสัมผัสนั้นในการหาความจริง ประสาทสัมผัสไม่หลอกลวง การตัดสินต่างหากที่หลอกลวง” สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนวิทยาศาสตร์ของเกอเธ่คือการละวางการตัดสิน ละวางประสบการณ์เดิม ความรู้เดิม และอยู่กับปรากฏการณ์ตรงหน้าอย่างแท้จริง

จากบทความ “The Forming Tree” ที่เขียนโดย เครก โฮลเดรจ (Craig Holdrege) ผู้อำนวยการ The Nature Institute ที่สอน Goethean science ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีตอนหนึ่งพูดถึงต้นไม้ต้นสูงๆ ที่โตในป่า แนวคิดแบบดาร์วินจะบอกว่าที่ต้นไม้โตสูงขึ้นไปอย่างนั้นเพราะแข่งกันแย่งแสงแดด ออกซิเจนที่อยู่ด้านบน แต่บทความนี้บอกว่าทำไมต้นไม้ต้องใช้พลังงานมากขนาดนั้นในการโตต้านแรงโน้มถ่วงของโลก ในขณะที่โตไปด้านกว้างใช้พลังงานน้อยกว่ามาก ที่ต้นไม้ยอมใช้พลังงานมากกว่าในการโตสูงขึ้นไปเพราะพื้นที่ป่ามีจำกัด ถ้าทุกต้นโตไปในแนวราบก็มีเพียงไม่กี่ต้นที่โต แต่ถ้าโตสูงขึ้นไปในอากาศ ต้นอื่นๆ ก็โตขึ้นไปด้วยกันได้ เป็นแนวคิดแบบเกื้อกูลกัน หรือต้นไม้ที่ผลิตเมล็ดออกมานับพันๆ เมล็ด แนวคิดแบบดาร์วินจะบอกว่า เมล็ดที่แข็งแรงที่สุดจะโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง เราเรียนกันมาอย่างนั้นตลอด และก็เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและการกระทำของเรา แต่บทความนี้บอกว่าต้นไม้ใช้พลังงานมากมายในการผลิตเมล็ด เพราะเมล็ดจะได้เป็นอาหารสำหรับชีวิตที่อยู่รอบๆ ต้นไม้ด้วย อย่างเช่นต้นแอปเปิลที่ออกลูกมากมายก็เพื่อแบ่งปันให้สัตว์ต่างๆ ได้กิน

บทความนี้ทำให้เห็นอิทธิพลของแนวคิดแบบกลไกของนักวิทยาศาสตร์ยุคนิวตันที่มีผลต่อความคิดและพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันที่มุ่งเน้นที่การแข่งขัน ส่วนแนวคิดแบบเกอเธ่ทำให้มองโลกในอีกแง่มุมหนึ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลกัน แต่แนวคิดทั้งสองไม่มีแบบไหนถูกหรือผิด เพราะทั้งสองแนวคิดต่างก็เป็นความคิดของมนุษย์ ไม่ใช่ของต้นไม้ แต่อิทธิพลของแนวคิดไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อโลกนี้มากกว่ากัน วิทยาศาสตร์แบบนิวตันเป็นวิทยาศาสตร์แบบหยาง ส่วนวิทยาศาสตร์แบบเกอเธ่เป็นแบบหยิน รูดอล์ฟ สไตเนอร์ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์แบบเกอเธ่เป็นวิทยาศาสตร์ที่มีจิตวิญญาณ แต่ถ้าไม่มีวิทยาศาสตร์แบบนิวตัน เราคงไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านที่มั่นคงแข็งแรงเช่นนี้ หรือคงไม่มีชีวิตที่สะดวกสบายแบบทุกวันนี้ ถ้าเรารับแต่วิทยาศาสตร์แบบเกอเธ่อย่างเดียว เราคงยังไม่สามารถสำรวจไปจนสุดจักรวาลหรือลึกถึงก้นมหาสมุทรได้ หรือดังเช่นที่เกอเธ่กล่าวไว้ว่า “โลกนี้ประกอบด้วยขั้วสองขั้วที่แยกจากกันไม่ได้” แต่ปัจจุบันนี้เรารับขั้ววิทยาศาสตร์เชิงวัตถุ และละเลยขั้ววิทยาศาสตร์เชิงจิตวิญญาณจนโลกกำลังจะพังทลาย ถ้าเพียงแต่เรารักษาสมดุลระหว่างสองขั้วนี้ไว้ได้ โลกที่เป็นบ้านแห่งเดียวและแห่งสุดท้ายของเราคงจะเป็นบ้านที่น่าอยู่สำหรับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งปวง

วันที่เขียน: 14 กุมภาพันธ์ 2564

แหล่งข้อมูล: มติชนออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

Blogs

อริสา สุมามาลย์

บทเส้นทางการค้นหาตัวเอง

Hand

Exercises Practical Tools

Blogs

Craig Holdrege ผู้เขียน สิรินันท์ นิลวรางกูร ผู้แปลและเรียบเรียง

ไวรัสและพลวัตแห่งชีวิต

Head

Concept/Theory Non-Religion Religion

Blogs

Craig Holdrege (เขียน) / สิรินันท์ นิลวรางกูร (แปลและเรียบเรียง)

Viruses in the Dynamics of life ไวรัสและพลวัตแห่งชีวิต

Head

Experiences Non-Religion Relationship

แชร์

แชร์ผ่านช่องทาง

หรือคัดลอก URL