คุณรู้ตัวเองหรือยังว่า รักหรือชอบทำอะไร
หลายคนคงเคยเห็นภาพวงกลมซ้อนกัน 4 วงที่ถามว่า เรากำลังทำใน “สิ่งที่ชอบ” “สิ่งที่เราทำได้ดี” “สิ่งที่โลกนี้ต้องการ” และ “สิ่งที่สร้างรายได้” หรือไม่ โดยมีจุดตัดตรงกลางคือ “เหตุผลของการมีชีวิตอยู่” หรือที่รู้จักกันว่าอิคิไก (IKIGAI)
ตั้งแต่แผนภาพนี้เป็นรู้จักอย่างแพร่หลาย ผู้คนมากมายได้ใช้คำถาม 4 ข้อนี้เป็นแนวทางในการค้นหาตัวเอง ว่าเขาควรจะทำอะไรในชีวิตนี้ ที่ทางของเขาควรจะอยู่ตรงไหน
ในมุมมองของผู้เขียน คำถามที่ตอบยากที่สุดในแผนภาพนี้ คือ “อะไรคือสิ่งที่ฉันชอบทำ” (Things I love to do) และสำหรับบางคน อาจจะยากจนถึงขั้นทำให้เครียดได้
วันก่อนมีนักศึกษามาปรึกษาว่า “อาจารย์ หนูเครียดมากเลยค่ะ หนูไม่รู้ว่าหนูชอบทำอะไร หนูลองมาหมดทุกอย่าง ทำได้หมดนะ แต่ไม่ชอบสักอย่างเลย…รู้สึกเหมือนไม่มีทางออกเลย”
1. เท่าทันว่าเรากำลังค้นหาตัวเองแบบ “บีบให้มั่น คั้นให้ตาย” หรือเปล่า
คนทั่วไปมักเข้าใจว่า passion หรือความหลงใหลเป็นเรื่องที่ถ้าค้นเจอแล้ว ก็จะรู้สึกรักขึ้นมาทันที เลยทำให้หลาย ๆ คนสับสนในตนเอง เพราะไม่เห็นเคยรู้สึกชอบอะไร
มาก ๆ เลย ทำอะไรก็ไม่ต่อเนื่อง
แต่ passion เป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาขึ้นมาจากความสนใจทั่ว ๆ ไป ที่เราอยากลอง อยากรู้ อยากเล่น เลยทำให้เราอยากใช้เวลาอยู่กับมัน และเราอาจจะเรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันไปก็ได้
หรือจะเลิกเรียนรู้เมื่อหมดความสนใจก็ได้ ไม่แปลกอะไร ปล่อยให้
การเรียนรู้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องบังคับตัวเองว่าจะต้องเอาดีให้ได้ทางใดทางหนึ่ง หรือคาดหวังไปล่วงหน้าว่าเมื่อเราเก่งในเรื่องนั้นแล้ว เราจะมีชื่อเสียงหรือสร้างรายได้มากมาย (โดยเฉพาะเมื่อเราเล็งว่ามันจะเป็นคำตอบในแผนภาพ IKIGAI)
ขอให้เราใส่ใจอยู่ที่การกระทำ เมื่อเราสนุกและใช้เวลากับมัน เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำว่ามันให้ความสุขกับเราและคนอื่นอย่างไร นั่นแหละที่จะทำให้เกิดความรักในเรื่องนั้นขึ้นมาจริง ๆ และเมื่อเราต้องฝึกทักษะที่ยากขึ้น เราจะอดทนทำมันต่อไปได้ และค่อย ๆ เก่งขึ้น
2. เท่าทันการใช้ model การพัฒนาตนเองต่าง ๆ ด้วย
เมื่อผู้คนออกค้นหาความหมายในชีวิต การมี model ต่าง ๆ เช่น แผนภาพ IKIGAI นี้ย่อมช่วยให้เรา focus ได้ง่ายขึ้น แต่เราได้สังเกตตัวเองไหมว่า กำลังใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ หรือเอามากดทับตัวเอง
แรกเริ่มเดิมที ชาวญี่ปุ่นไม่ได้พยายามตอบคำถาม 4 ข้อตามแผนภาพเพื่อจะเข้าถึงอิคิไก แต่ความเข้าใจผิดว่าอิคิไกคือแผนภาพ 4 วงกลมนั้นเกิดจากบล๊อคเกอร์ชื่อ Marc Winn ได้เขียนโพสต์ชื่อ “”What’s your IKIGAI?” โดยได้นำเอาแผนภาพเกี่ยวกับเป้าหมายในชีวิตของนักเขียนท่านหนึ่ง มาเชื่อมโยงกับคำว่า IKIGAI ของชาวญี่ปุ่น และเขียนว่า
“หลังจากที่ผมใช้เวลาช่วยผู้ประกอบการธุรกิจหลายต่อหลายคนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ค้นหา IKIGAI ของพวกเขา และค้นหา IKIGAI ของตัวเองด้วย ในที่สุด ผมก็สามารถสรุปให้เป็นแผนภาพได้ดังนี้”
จากนั้น โพสต์นี้ก็กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก
ถ้าดูจากที่มาแบบนี้ ผู้เขียนก็คิดว่าคุณ Marc Winn พูดได้เหมาะสมอยู่ เพราะแผนภาพนี้เหมาะกับการค้นหาเป้าหมายของผู้ประกอบการ (entrepreneurs) ว่าธุรกิจของเขาจะสร้างรายได้ ความสุข ความสำเร็จและการตอบแทนสังคมอย่างไร หรือถ้าสำหรับปัจเจคบุคคลก็อาจใช้มันเป็นแนวทางสำหรับหาการงานที่มีความหมาย (meaningful work) ได้
แผนภาพที่ว่านี้ชื่อ The Zuzunga Venn Diagram of Purpose ถูกสร้างขึ้นในปี 2011 โดยนักเขียนชาวสเปนชื่อ Andres Zuzunaga เป็นที่นิยมในกลุ่ม HR และไลฟ์โค้ชในการช่วยให้ผู้คนค้นหาเป้าประสงค์ในการทำงานอย่างสมดุล
อย่างไรก็ตาม มันเป็นคนละเรื่องกับการมีเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ (reasons for living) เพราะในโลกนี้ยังมีผู้คนที่เลือกจะทำสิ่งที่มีความสุขแต่ไม่สร้างรายได้ คนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอว่าชอบอะไร ยังไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ดี คนที่ไม่ได้สนใจว่าโลกนี้ต้องการอะไรจากเขา หรือผู้คนอยู่ในสถานะที่ไม่เอื้อต่อการสร้างรายได้ เช่น เด็ก ๆ คนสูงวัย ผู้ลี้ภัย คนเจ็บป่วย คนที่ต้องเสียสละตัวเองดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ผู้ต้องขัง ฯลฯ คนเหล่านี้ก็มีเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ และสามารถเข้าถึงความสุขในแบบของตัวเองได้เหมือนกัน
ทั้งนี้ IKIGAI ในความหมายของชาวญี่ปุ่น เป็นวิถีการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าจะเป็นการใคร่ครวญต่อคำถามที่ยิ่งใหญ่ โดยใส่ใจและซึมซับความสุขเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ เช่น การได้ลิ้มรสกาแฟหอมอร่อยกับแสงแดดอุ่น ๆ ตอนเช้า การได้อ่านหนังสือดี ๆ ได้ทานข้าวกับครอบครัว การปลดปล่อยตัวเองออกจากตัวตนที่ถูกนิยามโดยสังคมหรือหน้าที่การงาน การสร้างผลงานโดยไม่ต้องถามถึงรางวัลตอบแทนหรือชื่อเสียงในทันทีทันใด ฯลฯ
ในสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดเช่นนี้ ชีวิตอาจไม่เป็นไปอย่างที่ใจคาดหวัง มีเรื่องที่ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องการงาน การเงิน และความสัมพันธ์ กำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไปยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ การกำหนดกรอบที่เราจะใช้บอกตัวเองว่าเรามีชีวิตที่น่าพึงพอใจหรือยัง จึงควรมีความยืดหยุ่นพอที่จะโอบรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาในแต่ละวันก็อาจเป็นโอกาสให้เราเติบโตผ่านการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทีละเล็กทีละน้อย
กลับมายังนักศึกษาต้นเรื่องที่รู้สึกเครียดกับการค้นหาตัวเอง และคงจะเครียดมากยิ่งขึ้นเมื่อนึกถึงสภาพเศรษฐกิจและโอกาสในการทำงานในวันข้างหน้า ผู้เขียนคิดว่าเขาคงจะรู้สึกเบาใจมากขึ้น ถ้าหากตัวเขาหรือคนใกล้ชิดไม่ได้เร่งรีบว่าเขาจะต้องสร้างตัวตนและความสำเร็จขึ้นมาให้ได้ เพราะความความหวังและความรู้สึกผิดยิ่งจะเป็นตัวปิดกั้นหัวใจและการเรียนรู้ ที่จริงแล้ว การค้นหาตัวเองเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดทั้งชีวิต เพื่อที่เราจะปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์แวดล้อมและโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา การจะตอบคำถามว่า “เราเป็นใคร” จึงยังมีคำถามที่ลึกกว่าอยู่ใต้นั้น นั่นคือ “เราจะกลับมาดูแลใจของตัวเองอย่างไร ทั้งในยามล้มและยามลุก บนเส้นทางการค้นหาตัวเอง”
ติดต่อผู้เขียน อริสา สุมามาลย์ arisa.s@snru.ac.th