หันหน้าหากันก่อนถึงวันจากลา: การสนทนาเรื่องความตายในครอบครัวของฉัน

Heart

Experiences Relationship

แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวรร และ อริสา สุมามาลย์

ตัวตนด้านใน ความสนใจ ความกลัว…จุดตั้งต้นของงานวิจัย

จากจุดตั้งต้นในการอยากทำงานเป็นกระบวนกร หรือผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ทำให้อาจารย์ตี่ – ดร.ปฏิพัทธ์ อนุรักษ์ธรรม ก้าวเข้าสู่การเป็นนักศึกษาปริญญาโท รุ่น 6 ที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา เมื่อเริ่มเรียนพบว่ากระบวนการศึกษาของจิตตปัญญาศึกษาทำให้ได้กลับเข้าไปศึกษาและมองเห็นบางอย่างที่อยู่ภายในตัวเอง การเลือกหัวข้อวิจัยจึงกลับมามองตัวเองและเรื่องที่ตนสนใจอย่างแท้จริง ประกอบกับการเรียนรายวิชาที่เปิดโอกาสให้ติดตามและเรียนรู้การทำงานจริงจากผู้รู้หรือกระบวนกรมืออาชีพ ซึ่งอาจารย์ตี่เลือกที่จะเรียนรู้จากคุณสุ้ย – วรรณา จารุสมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี ทำให้ได้เข้าอบรม “เผชิญความตายอย่างสงบ” กับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้เรียนรู้เรื่องความตายและการเตรียมตัวตาย จุดนี้เองเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์ตี่ได้กลับไปเชื่อมโยงกับความรู้สึกในวัยเด็ก ย้อนกลับไปในวันที่แม่พา ด.ช.ตี่ วัย 5 ขวบ ไปงานศพญาติสนิทและทำให้เด็กชายตัวน้อยได้รู้จักคำว่า “ตาย” เป็นครั้งแรกในชีวิต ได้รู้ว่าคนเราไม่ได้มีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ แต่วันหนึ่งทุกคนต้องตายจากกัน ในวันนั้น ด.ช.ตี่ รับรู้ถึงบรรยากาศแห่งความเศร้าภายในงาน ขณะเดียวกันก็รู้สึกกลัว แม่บอกว่าคุณยายในรูปที่หน้าโลงศพคือคนที่ตาย ด.ช.ตี่ ยิ่งมองรูปก็ยิ่งกลัว ไม่ว่าจะพยายามหลบหรือเดินหนีไปทางไหน คุณยายในรูปก็มองตามอยู่ตลอด ยิ่งทำให้เขากลัวมากยิ่งขึ้นโดยยังไม่เข้าใจว่านั่นก็เพราะเป็นภาพถ่าย “หน้าตรงมองกล้อง” นั่นเอง หลังจากนั้น ความสนใจเรื่องความตายก็โตตามวัย เขาเริ่มคิดถึงชีวิตภพหน้า ตั้งคำถามว่าเรามาจากไหน รู้สึกถึงความอ้างว้าง กลัวความตายและความสูญเสีย สิ่งเหล่านี้วนเวียนในชีวิตมาโดยตลอดจึงพบว่าตนเองสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เมื่อได้เรียนรู้เรื่องความตายจึงเห็นคุณค่าของการเตรียมตัวตายว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ก่อนโดยไม่ต้องรอแก่ เจ็บป่วย หรือเริ่มเห็นสัญญาณการจากลา

“ความตาย การจากลา ความเจ็บป่วย พวกนี้เป็นสิ่งที่ผมกลัวมาก ๆ และสนใจมาก ๆ ด้วย ถ้าต้องสนทนาเรื่องความตาย กลุ่มคนที่เราทำด้วยได้ยากที่สุดและมีความหมายมากที่สุดก็คือครอบครัวของเราเอง” อาจารย์ตี่เปิดใจถึงที่มาของหัวข้อวิจัยและผู้เข้าร่วมในงานวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์ของงานวิจัยเพื่อศึกษาผลกระทบของการสนทนาเรื่องความตายต่อมุมมองเรื่องความตายและการดำเนินชีวิตของตนเองและคนในครอบครัวและเพื่อศึกษากระบวนการสนทนาเรื่องความตายในครอบครัว

จากเรื่องราวในชีวิต สู่งานวิจัยเรื่องเล่า

อาจารย์ตี่ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในรูปแบบเรื่องเล่า (Narrative Research) คือการประกอบสร้างเรื่องราวโดยมักเริ่มจากประสบการณ์ในชีวิต มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างงานวิจัย ผู้ทำวิจัย ผู้เข้าร่วมวิจัย และสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งเวลา สถานที่ สภาพแวดล้อมทางสังคม ให้ความหมายและนำเสนอผ่านมุมมองของผู้วิจัย ก่อให้เกิดความหมายในการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านประสบการณ์ส่วนบุคคลไปสู่องค์ความรู้ใหม่ที่ได้ค้นพบ โดยผ่านกระบวนการที่สำคัญ เช่น การเขียน การเล่าเรื่อง การฟัง หรือการสะท้อนประสบการณ์

“เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างฉากชีวิต การเก็บข้อมูลตลอด 6 เดือน การเขียนสะท้อนตัวเองและคนในครอบครัว รวมถึงบันทึกส่วนตัวที่ผมเขียนทุกวันตั้งแต่อายุ 15 ปีจนถึงตอนนี้ ผมหยิบบางส่วนมาใส่ไว้ในงานวิจัยด้วย ทุกอย่างเป็นเรื่องเล่าทั้งหมด ผมจึงนำเสนอผลการวิจัยด้วยการเขียนพรรณนาแบบเรื่องเล่า ทั้งในแง่ของกระบวนการ มุมมองต่อเรื่องความตายและการดำเนินชีวิตของตัวผมเองและคนในครอบครัว เขียนบรรยายสะท้อนการเรียนรู้ ความคิด ความรู้สึก และสิ่งที่ปรากฏขึ้นในใจ”

“การเขียนทำให้ผมเห็นอารมณ์ ความรู้สึก เห็นสิ่งที่เราทำหรือมีปฏิกิริยาออกไป ทำให้รู้จักสังเกตตัวเองทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า ‘สังเกตตัวเอง’ คืออะไร” อาจารย์ตี่เล่าถึงการเขียนในวัยทีนของตนเอง

“ทุกวันนี้ การได้เขียนออกมาทำให้ผมเห็นปรากฏการณ์และเยียวยาให้เรารู้สึกโอเคขึ้น ถึงจะไม่ค่อยได้กลับไปอ่าน แต่ ณ จังหวะที่เขียนผมได้เห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นข้างใน กระบวนการเขียนช่วยให้ยอมรับและเห็นตัวเอง ณ ขณะนี้”

“ผู้เข้าร่วมวิจัย มีตัวผมเอง พ่อ แม่ น้องสาว อา 2 คน และน้า 2 คน ซึ่งเป็นญาติที่สนิทที่สุด เห็นผมมาตั้งแต่เด็ก ๆ ผมเก็บข้อมูลเชิงลึกด้วยการสนทนาพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติและไม่เป็นทางการร่วมกับการสังเกต โดยสังเกตทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการสนทนา วิถีการดำเนินชีวิต พฤติกรรมขณะใช้ชีวิตประจำวัน และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แล้วกลับมาจดบันทึกอย่างละเอียด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เชิงแก่นสาระและประเด็นที่สำคัญ (Thematic Analysis) ตีความ หาความหมายของข้อมูล ทั้งที่เป็นประเด็นร่วมจากการสนทนา การสังเกต และประเด็นสำคัญอื่น ๆ รวมทั้งวิเคราะห์ทฤษฎีและความหมายใหม่ที่ได้ค้นพบจากการวิจัย และทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมหลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัย”

ชวนครอบครัวคุยเรื่องความตาย

ลองนึกภาพบรรยากาศมื้ออาหารที่มีสมาชิกพร้อมหน้า แสนอบอุ่น และเป็นปกติของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่แต่ไหนแต่ไรไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องความตายหรือการเตรียมตัวตายมาก่อน ถ้าใครสักคนลุกขึ้นแล้วพูดหน้าตาเฉยว่า “ทุกคนครับ วันนี้เรามาคุยเรื่องความตายกันเถอะ” ไม่บอกก็รู้ว่าต้องเกิดเดดแอร์หรือความเงียบงันงุนงงกลางอากาศอย่างแน่นอน การหา “จังหวะเปิด” ในการสนทนาเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

“แต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมเริ่มคุยกับพ่อก่อนเป็นคนแรก เริ่มจากเล่าว่าผมไปเข้าคอร์สเตรียมตัวเผชิญความตายตามแบบพุทธทิเบต เล่าว่าเรียนอะไร รู้อะไรมาบ้าง พ่อก็สนใจและเริ่มคุย แต่เอาเรื่องเดียวกันนี้ไปคุยกับแม่ แม่ผมไม่คุยเลยนะ เลี่ยงตลอด ไม่อยากคุย ไม่อยากฟัง ผมลองเปลี่ยนเป็นชวนคุยในมุมวัฒนธรรมที่ศึกษามาและคาดเดาว่าแม่น่าจะพอรู้ธรรมเนียมของคนจีนแคะซึ่งเป็นเชื้อสายของบรรพบุรุษไม่มากก็น้อย นั่นแหละที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสนทนาเรื่องความตายระหว่างผมกับแม่ การพูดถึงความเชื่อเรื่องความตาย ทำให้แม่รู้สึกสบายและมีส่วนร่วมในการสนทนา ต่างจากการพูดถึงการเผชิญความตายอย่างตรงไปตรงมา  หลังจากนั้นผมคุยเรื่องความตายกับแม่นาน ๆ ครั้ง ทำให้แม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องความตายมากขึ้น จนวันหนึ่งแม่เป็นฝ่ายถามผมขึ้นมาเองว่าคนเราตายแล้วไปไหน”

สิ่งสำคัญที่ทำให้อาจารย์ตี่มีเครื่องมือในการสนทนากับครอบครัว คือการศึกษาเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษาที่ช่วยให้เขาได้ทำความเข้าใจตนเอง โดยเฉพาะการกลับมาสังเกตและรับรู้เท่าทันความรู้สึก หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง อันเป็นต้นทุนที่สำคัญของการสนทนาเรื่องความตายในครอบครัว อีกทั้งยัง “เรียน” และ “รู้” เรื่องชีวิตและความตายอย่างจริงจังทั้งในมิติความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนมุมมองแนวคิดต่าง ๆ

งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เราเห็นว่าหากจะชวนคนใกล้ตัวหรือครอบครัวคุยเรื่องความตายมีหลากวิธีหลายหัวข้อ ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับธรรมชาติ บริบทภูมิหลัง มุมมอง วิธีคิด หรือความเชื่อของผู้ฟังเป็นหลัก โดยมีหัวข้อสำคัญ ๆ เช่น เรื่องเล่าทั่วไปในชีวิตและเรื่องที่สนใจ ความเจ็บป่วย ความเชื่อเรื่องความตาย เจตจำนงในวาระสุดท้ายของชีวิตและการเผชิญความตายอย่างสงบ

เครื่องมือล้ำค่า: การฟังอย่างรู้สึกตัว และ สติ 

อาจารย์ตี่อธิบายถึงเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการทำวิจัย “ผมใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง หรือ Deep Listening มาเป็นแนวทางหลักในการสนทนา เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้พื้นที่ปลอดภัยของการสนทนากับคนในครอบครัวได้ถูกเปิดออก เกิดความไว้วางใจ และผมพบว่าการฟังอย่างรู้สึกตัว (Listening in the Present Moment) คือไม่เพียงแค่ฟังเสียงของคนตรงหน้า แต่รวมถึงเสียงในใจเราด้วย จะช่วยให้การสนทนาเรื่องความตายกับคนในครอบครัวมีความหมายและลึกซึ้งอย่างแท้จริง เพราะเป็นสภาวะของการรับฟังโดยอยู่กับเสียงที่ได้ยิน ปราศจากคำตัดสิน มีสติคอยช่วยให้เห็นความคิดที่เกิดขึ้น และช่วยให้สามารถวางจากความคิดได้ในขณะที่รับฟัง ถ้าไม่เท่าทันความคิดหรือรู้เท่าทันในภายหลังก็ต้องให้อภัยตัวเองและพร้อมเริ่มต้นใหม่เสมอ ถ้าเราไม่ฟังอย่างรู้สึกตัว เสียงเราเถียงในใจเพราะไม่เห็นด้วยจะดังขึ้นมา ‘ไม่ใช่ แบบนั้นไม่ถูก’ แต่เมื่อเรารู้สึกตัว เราจะเห็นเสียงนั้นและรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่บ่มเพาะหรือขยายให้มากหรือน้อยเกินจริง เพราะในการสนทนามีเรื่องราวและความรู้สึกซับซ้อน เช่น การไม่ยอมรับเรื่องความตาย เรื่องราวและความสัมพันธ์ในอดีตที่ทำให้เกิดความรู้สึกภายในใจมากมาย การรับฟังอย่างรู้สึกตัวจึงช่วยให้ผมอยู่กับสิ่งที่ได้รับรู้ในปัจจุบันได้อย่างมั่นคง สนทนาอย่างมีสติ มีความรู้สึกตัว เรียนรู้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวเองอีกด้วย”

สติหรือความรู้สึกตัวเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุด ช่วยให้กลับมารับรู้เท่าทันความคิดความรู้สึกตัวเราเองในทุกขณะของการทำงาน สามารถจัดการกับความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในใจ อยู่กับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ด้วยใจที่เป็นปกติ ก้าวแรกที่สำคัญจริง ๆ คือ เรากลับมาตระหนักกับตัวเราเองก่อนที่จะไปบอกกับใคร อันนี้สำคัญที่สุด”

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่อาจารย์ตี่ใช้ในการสนทนาเรื่องความตายกับคนในครอบครัว ได้แก่ องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องความตาย ซึ่งช่วยให้มีข้อมูลสำคัญและน่าสนใจเพื่อใช้ในการสนทนา โอกาสพิเศษ เช่น งานศพ งานนิทรรศการเกี่ยวกับความตาย การไปเยี่ยมผู้ป่วย ล้วนเป็นการเอื้อหรือเปิดโอกาสในการชวนคุยเรื่องความตายอย่างเป็นธรรมชาติ สมุดเบาใจ เป็นเครื่องสำคัญที่ทำให้เชื่อมโยงไปสู่การเตรียมตัวเผชิญความตายอย่างสงบ สามารถเขียนแสดงความประสงค์ต่อการรับการรักษาในช่วงเวลาวิกฤตซึ่งเป็นการแสดงเจตจำนงในวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างเป็นรูปธรรมได้

ค้นพบความหมายของชีวิตจากการทำวิจัย

“ผมเริ่มทำงานวิจัยนี้ด้วยความรู้สึกสำคัญคือ ‘ความกลัว’ ทั้งกลัวความตาย การจากลา ความเจ็บป่วย และคาดหวังว่าทำเสร็จจะเลิกกลัวเพราะอยากผลักความกลัวเหล่านี้ให้ออกไปจากชีวิต เมื่อทำวิจัยจบผมไม่ได้หายกลัว แทบไม่ลดลงเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ได้คือ ผม ‘ยอมรับ’ ให้ความกลัวอยู่ในชีวิตได้โดยไม่ทำให้เราเจ็บปวด  ผม ‘เห็น’ ว่ายอมรับความกลัวไม่ได้ ทุกวันนี้ก็ยังกลัวอยู่ แต่ผมยอมรับได้ที่ผมยังยอมรับความกลัวไม่ได้ นั่นคือการยอมรับให้ความทุกข์อยู่กับชีวิตเราและเดินไปด้วยกันได้” การเจริญสติ การเรียนรู้เรื่องด้านใน ทำให้อาจารย์ตี่ละเอียดอ่อนและไวต่อความรู้สึกมากขึ้นจากการสังเกต เข้าใจตัวเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองผ่านการสนทนาทั้งในฐานะผู้พูด ผู้ฟัง และผู้สังเกตการณ์ตนเองซึ่งนำไปสู่การยอมรับได้มากขึ้น

สำหรับครอบครัว อาจารย์ตี่พบว่าการทำงานวิจัยนี้ทำให้กล้าคุยเรื่องที่คุยได้ยากกับครอบครัว ทำให้เรื่องสำคัญถูกหยิบมาพูดคุยโดยเปลี่ยนภาพความอัปมงคล เป็นลาง หรือต้องห้าม มาเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้อย่างเปิดใจและเป็นธรรมชาติ การได้สื่อสารบอกความรู้สึกภายในของตนเองแก่คนในครอบครัวทำให้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้น ไม่มีเรื่องกังวลติดค้างในใจ ได้เตรียมพร้อมสำหรับความตายมากขึ้น จากเหตุการณ์ที่คุณแม่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการได้สนทนาและการเรียนรู้เรื่องความตายมาก่อนทำให้ทั้งตัวอาจารย์ตี่และครอบครัวมีสติ รู้สึกตัว ทุกข์น้อยลง ยอมรับต่อการรับรู้ข่าวร้ายได้ด้วยใจที่มั่นคงมากขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้สังคมหันมามองเรื่องชีวิตและความตายมากขึ้น เห็นคุณค่าว่าการเตรียมตัวให้พร้อมเผชิญความตายเป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อได้มองสิ่งเหล่านี้ผ่านแว่นของงานวิจัยในแบบจิตตปัญญาศึกษาทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการสนทนาเรื่องความตายในครอบครัว เห็นคุณค่าและความหมายของการเตรียมความพร้อมเรื่องการตายโดยกลับมาสังเกตปรากฏการณ์ภายในของตนเอง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงและเข้าใจตนเอง สามารถนำไปปฏิบัติกับคนในครอบครัวและเป็นประโยชน์แก่สังคมได้

“เราไม่รู้ว่าจะตายวันไหน การที่เรามาตระหนักเรื่องความตายในตอนนี้ทำให้เรารู้ว่าชีวิตเราจะดำเนินไปอย่างมีความหมายได้อย่างไร” อาจารย์ตี่กล่าวสรุปปิดท้ายเพราะความตายไม่ได้แยกขาดจากชีวิต

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ 

https://library.mahidol.ac.th/search/X?SEARCH

วันที่เขียน: 28 พฤษภาคม 2567

แหล่งข้อมูล: ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Blogs

แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร

รู้อะไรไม่สู้รู้ (คุณค่าใน) ตัวเอง: การศึกษา จิตวิญญาณ และการพัฒนามนุษย์

Head

Concept/Theory Non-Religion Practical

Blogs

Homemade 35

บทแนะนำงานวิจัยแบบ Spirituality Ep.5 ศึกษากระบวนการอบรมเชิงจิตวิญญาณอย่าง ‘ไม่’ เป็นจิตวิญญาณ

Hand Head Heart

Concept/Theory Exercises

Blogs

Homemade 35

บทแนะนำงานวิจัยแบบ Spirituality   Ep.2(2) บทสะท้อนตนเองผ่านการสนทนา …..

Head Heart

Experiences

แชร์

แชร์ผ่านช่องทาง

หรือคัดลอก URL