บทคัดย่อ
โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการจิตตปัญญาศึกษาโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินงานวิจัยมาเป็นระยะเวลา1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2552 โครงการฯ มุ่งสร้างและพัฒนาความรู้ให้ส่งเสริมและสนับสนุนจิตตปัญญาศึกษาในระบบการศึกษาไทย จึงได้ดำเนินการศึกษาต่อยอดจากงานวิจัยสำรวจพรมแดนความรู้จิตตปัญญาศึกษาและโมเดล “จิตตปัญญาพฤกษา” ในปีก่อนหน้า โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบจิตตปัญญาศึกษาในอุดมศึกษา 2) สร้างฐานข้อมูลและความรู้วิชาการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานจิตตปัญญาศึกษา และ 3) เพื่อขยายและพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยและนักปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษา ภารกิจหลักของโครงการฯ ประกอบด้วย การวิจัยเชิงปฏิบัติการ การจัดทำบรรณานิทัศน์ การจัด ทำต้นฉบับหนังสือแนะนำจิตตปัญญาศึกษา ฐานข้อมูลบุคคลและองค์กร และการจัดประชุมจิตตปัญญาสนทนา
การวิจัยเชิงปฏิบัติการได้ศึกษาการนำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในชั้นเรียนจึงดำเนินการเพื่อตอบคำถามวิจัย 2 ข้อ ได้แก่ 1) การประยุกต์โมเดล “จิตตปัญญาพฤกษา” ในระดับอุดมศึกษาควรมีกระบวนการอย่างไร และ 2) การจัดการเรียนการสอนแนวจิตตปัญญาศึกษามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ของผู้เรียนหรือไม่ อย่างไรโครงการฯ ได้ทบทวนแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องทั้งแนวคิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา แนวคิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน ตลอดจนได้คำนึงถึงคุณค่าร่วมของคณะนักวิจัยซึ่งมีผลต่อการศึกษาโครงการฯ กำหนดใช้ระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสมผสานโดยใช้กรณีศึกษาจำนวน 2 ชั้นเรียน ได้แก่ ชั้นเรียนวิชาหลักการและปรัชญาการศึกษานอกระบบโรงเรียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชั้นเรียนวิชาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพศึกษา: ทฤษฎีและปฏิบัติคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในระหว่างภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2551 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 จนถึงเดือนตุลาคม 2551 โดยศึกษาถึงพื้นฐานความเชื่อและประสบการณ์ของอาจารย์ผู้สอน ข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของรายวิชา บริบทของชั้นเรียน และกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน
โครงการฯ ได้ดำเนินการวิจัยตามวงจรปฏิบัติการ-การสะท้อน (Action-Reflection) และใช้เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) การสนทนากลุ่ม (Focus Group) การเขียนบันทึก (Journal) และการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม (Participant Observation) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลแบ่งเป็นการเก็บข้อมูลก่อนภาคการศึกษา (Pre-test) การเก็บข้อมูลระหว่างภาคการศึกษา (During-test) และการเก็บข้อมูลเมื่อจบภาคการศึกษา (Post-test) ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาได้ใช้วิธีวิเคราะห์แบบ Content Analysis จากข้อมูลที่ได้ในการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการเขียนบันทึก โดยวิเคราะห์ศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในส่วนของแก่นจิตตปัญญาพฤกษาและปัญญา-ความรักความเมตตา ตลอดจนใช้สถิติเชิงพรรณาในการวิเคราะห์ข้อมูลจากการทดลองใช้เครื่องมือแบบสอบถามที่ได้สร้างขึ้นเพื่อวัดระดับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของผู้เรียน
ผลการวิจัยเชิงปฏิบัติการในส่วนของการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของผู้เรียนในกรณีศึกษาที่ 1 ชั้นเรียนวิชาหลักการและปรัชญาการศึกษานอกระบบโรงเรียน พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับ ปัญญา-ความรักความเมตตาในนิสิตจำนวนหนึ่ง และในระดับในกลุ่ม กระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ในชั้นเรียนได้ทำให้นิสิตเกิดความเบิกบานและผ่อนคลาย และเกิดการมีจิตใจตั้งมัน่ และเป็นกลางตามแนวคิด ‘แก่น’ ในโมเดล “จิตตปัญญาพฤกษา”
ผลการวิจัยเชิงปฏิบัติการในส่วนของการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของผู้เรียนในกรณีศึกษาที่ 2 ชั้นเรียนวิชาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพศึกษา: ทฤษฎีและปฏิบัติ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับปัญญา-ความรักความเมตตาในนักศึกษาส่วนใหญ่ และในระดับกลุ่มกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ในชั้นเรียนได้ทำให้นักศึกษาเกิดการมีสติ การสืบค้นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับตน การน้อมมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจัง ความเบิกบานและผ่อนคลาย และการมีจิตใจตั้งมั่น และเป็นกลาง ตามแนวคิด ‘แก่น’ ในโมเดล “จิตตปัญญาพฤกษา”
จากการวิเคราะห์ผลการวิจัยเชิงปฏิบัติการพบว่าการประยุกต์ใช้โมเดล “จิตตปัญญาพฤกษา” ในระดับอุดมศึกษามีหลักการสำหรับจัดกระบวนการ 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมการ ซึ่งครอบคลุมถึงการเตรียมผู้สอน การเตรียมสังฆะของการเรียนการสอน และการเตรียมการ/ออกแบบ เครื่องมือและการปฏิบัติขั้นดำเนินการ โดยครอบคลุมถึงประยุกต์ใช้เครื่องมือและการปฏิบัติแนวจิตตปัญญาศึกษา การเชื่อมโยงปัญหาในสถานการณ์จริง และการปล่อยวางความคาดหวังผลของการปฏิบัติขั้นตอนสุดท้าย คือขั้นการจบ/ปิดการเรียนการสอนของชั้นเรียน ครอบคลุมถึงการประเมินแนวจิตตปัญญาศึกษา การเชื่อมโยงให้ผู้เรียนปฏิบัติแนวจิตตปัญญาศึกษาในชีวิตจริงต่อไป และการสนับสนุนให้มีสังฆะของกัลยาณมิตรระหว่างผู้เรียน
การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในผู้เรียนของทั้งสองกรณีศึกษาในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยพบการเปลี่ยนแปลงของระดับปัญญา-ความรักความเมตตา และการเปลี่ยนแปลงของ ‘แก่น’ ตามโมเดล “จิตตปัญญาพฤกษา” ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้แก่ เวลาของชั้นเรียน ลักษณะวิชาบังคับหรือวิชาเลือก แนวทางและกระบวนการการเรียนรู้ และบริบททางสังคมวัฒนธรรมและชุมชนของการเรียนรู้
กล่าวโดยสรุปได้ว่า กระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษาสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ได้ “จิตตปัญญาพฤกษา” เป็นโมเดลที่มีประโยชน์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษา เพราะช่วยให้ผู้สอนมีฐานคิด (Conceptual Basis) และ แนวทาง (Guideline) ในการเข้าใจ วางแผน เตรียมการ ดำเนินการ และประเมินชั้นเรียน หัวใจของกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาอยู่ที่ การมีสติระลึกได้รู้เนื้อรู้ตัวอยู่เสมอ รู้ว่ากระบวนการใดเหมาะกับตัวผู้เรียนเองและเหมาะกับชั้นเรียน มีความจดจ่อต่อเนื่องไม่ย่อท้อ เกิดความสุขรู้สึกดีทั้งก่อนระหว่างและหลังทำ ผ่อนคลาย มีใจตั้งมั่น มีเครือข่ายกัลยาณมิตรในการเรียนรู้ และที่สำคัญไม่คาดหวังผล
งานวิจัยได้มีข้อเสนอแนะว่าการขับเคลื่อนเรื่องจิตตปัญญาศึกษาในอุดมศึกษา ควรมุ่งเน้นให้ความความสำคัญกับการเตรียมผู้สอน การส่งเสริมให้มีเครือข่ายของกัลยาณมิตรในการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน การสนับสนุนจากหน่วยงาน และการปรับระบบการประเมินทั้งในผู้เรียนและผู้สอนให้สนับสนุนการเรียนรู้ที่แท้จริง
สำหรับภารกิจการจัดทำบรรณานิทัศน์หนังสือที่เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา โครงการฯได้ยกร่างรายชื่อหนังสือและขอคำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิถึงความเหมาะสม จากนั้นจึงร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการและนักปฏิบัติแนวจิตตปัญญาศึกษาในการทบทวนและเขียนบรรณานิทัศน์จนได้บรรณานิทัศน์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 80 รายการ แบ่งเป็นหนังสือภาษาอังกฤษจำนวน 53 รายการ และภาษาไทยจำนวน 27 รายการ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่และส่งเสริมการจัดการศึกษาแนวจิตตปัญญาศึกษา
โครงการฯ ยังได้บรรลุภารกิจในการจัดทำต้นฉบับหนังสือแนะนำจิตตปัญญาศึกษา โดยเรียบเรียงปรับปรุงจากผลการศึกษาสำรวจพรมแดนความรู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการวิจัยและจัดการความรู้จิตตปัญญาศึกษา (2551) มีเนื้อหาหลักประกอบด้วยความเป็นมาและจุดเริ่มต้นของจิตตปัญญาศึกษา การปฏิบัติและกิจกรรมการเรียนรู้แนวจิตปัญญาศึกษา การวิจัยสืบค้นความรู้ และการประเมินที่เหมาะสม ตลอดจนโมเดล “จิตตปัญญาพฤกษา” ที่เป็นแนวทางในการประยุกต์นำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้
นอกจากนี้ ในส่วนภารกิจการจัดทำฐานข้อมูลบุคคลและองค์กรนั้น โครงการฯ ได้รวบรวมข้อมูลและบทบาทภารกิจหลักขององค์กรที่มีพันธกิจเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษาไว้เป็นจำนวน 78 แห่ง และได้รวบรวมรายชื่อของบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษา เป็นจำนวน 418 ราย ครอบคลุมทั้ง นักวิชาการ นักการศึกษา ครูอาจารย์ นักปฏิบัติ นักฝึกอบรม และสื่อมวลชน
อนึ่ง โครงการฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมจิตตปัญญาสนทนา (Contemplative Research Dialogue — CoRDial) เพื่อแลกเปลี่ยนยกระดับความรู้จากการวิจัยและการปฏิบัติในแนวจิตตปัญญาศึกษาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน จำนวน 9 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมตลอดทั้งกระบวนการรวมทุกครั้งประมาณ 60 คน ซึ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประกอบด้วย กลุ่มนักวิชาการซึ่งได้ศึกษาและมีความสนใจในองค์ความรู้และทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษา กลุ่มนักวิจัยซึ่งศึกษาวิจัยในโครงการและงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษา ทั้งในระดับนักวิจัยและผู้รับผิดชอบโครงการ กลุ่มนักปฏิบัติซึ่งมีประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติแนวทางต่างๆ ตลอดจนกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาโทของหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยมหิดล
ปีที่ตีพิมพ์: 2552
แหล่งข้อมูล: ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ฉบับเต็ม: โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการจิตตปัญญาศึกษา