ในโลกการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณในปัจจุบัน กระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการหรือที่เรามักเรียกสั้น ๆ ว่า “เวิร์กชอป” นั้นมีมากมายให้เลือกเข้า และมีไม่น้อยที่ทั้งคนจัดและคนเข้าก็อยากรู้ว่า เข้าร่วมแล้วได้อะไร อยากรู้ว่าเรียนไปแล้วตัวเองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เลยมีวิธีการประเมินออกมาหลายแบบทั้งวิธีเชิงปริมาณ เช่น ให้ตอบแบบสอบถาม วิธีเชิงคุณภาพ เช่น สัมภาษณ์รายบุคคลหรือทำการสนทนากลุ่ม รวมถึงวิธีการแบบผสม (ทั้งปริมาณและคุณภาพ) อย่างไรก็ตาม จะมีวิธีการประเมินอย่างไรที่สอดคล้องไปกับกระบวนการเรียนรู้ที่มีความเป็นจิตวิญญาณและทำผ่านประสบการณ์ตรงของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นน่าจะเป็นวิธีที่ใช่ที่ฉายภาพได้ตรงและครบถ้วนยิ่งกว่า
งานวิจัยเรื่อง The Heroine’s/Hero’s Journey—A Call for Transformation? Transformative Learning, Archetypal Patterns, and Embodied Knowing/Learning โดย Daniela Lehner มุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงเชิงจิตวิญญาณในบุคคลที่ผ่านเวิร์กชอป“ฮีโร / ฮีโรอีนเจอร์นี่” โดยเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงภายในจากฐานรากอย่างลึกซึ้ง ที่มุ่งไปที่การรับรู้อันเป็นแก่นแท้และเป็นเนื้อเป็นตัว จะช่วยให้คนเชื่อมโยงกันและกัน เชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และกับโลก จนนำไปสู่การมีสังคมที่สงบสุขได้ ในการวิจัยจะอาศัยกรอบของทฤษฎี TL (Transformative Learning) บทบาทของร่างกาย (The Body’s Role) ในแนวคิด TL และทฤษฎีที่ว่าด้วยกระบวนการการเปลี่ยนแปลง (Change Process Theory) มาเป็นตัววิเคราะห์
ก่อนอื่น ผู้วิจัยเล่าถึงที่มาของเวิร์กชอปนี้ ซึ่งพัฒนาโดย พอล เรบิลลอท นักบำบัดแนวเกสตอลท์และผู้กำกับละครเวที เวิร์กชอปฮีโร / ฮีโรอีนเจอร์นี่ได้รับแรงบันดาลใจจากนักตำนานวิทยา โจเซฟ แคมเบลล์ กับนักบำบัดแนวเกสตอลท์ ฟริตซ์ เพอรส์ เป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ที่นำเอาทั้งการฝึกปฏิบัติแบบเกสตอลท์ การละครเชิงพิธีกรรม ไซโคดราม่า การทำกระบวนการกลุ่ม กิจกรรมฐานกาย เรื่องเล่าตำนาน การเต้น และการวาดภาพ มาปรุงเป็นกิจกรรมต่าง ๆ บนเส้นเรื่องที่เป็นประสบการณ์ตรงของพอลที่ว่าด้วยการเผชิญกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงในตนเอง
กิจกรรมวันแรกเปิดด้วยการทำงานกับเสียงเรียกภายใน (Calling) ได้ยินเสียงนั้น และเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันของชีวิตอันเป็นจุดเริ่มต้นของการออกเดินทาง วันที่สอง ผู้เข้าร่วมจะได้ทำงานกับประสบการณ์การเป็นฮีโร่ในตนเอง สิ่งที่ตนเองเชื่อว่าใช่ ชื่นชมและอยากเป็น รวมถึงได้เชื่อมต่อกับเทพผู้นำทาง วันที่สามจะเป็นวันของปิศาจผู้ต่อต้าน เป็นเสียงภายในที่คอยเหนี่ยวรั้งเราไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง และมักแสดงออกผ่านความรู้สึกของร่างกาย
หลังจากสามวันผ่านไป ผู้เข้าร่วมจะเกิดประสบการณ์การแบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน คือทางหนึ่งคือเสียงเรียกร้องของหัวใจ กับอีกทางหนึ่งคือสิ่งที่มาหยุดยั้งเสียงนั้น กิจกรรมวันที่สี่คือการปะทะกันของสองสิ่งนี้นั่นเอง ผู้เข้าร่วมจะได้ทำบทสนทนาภายในกับตัวเอง อาศัยGestalt Drama เพื่อทำงานกับเสี้ยวส่วนต่าง ๆ ในตัวเองที่ถูกเก็บกดไว้ จากนั้น ตามด้วย Transformation Dance ด้วยการนำคุณภาพภายในทั้งหลายเหล่านั้นมาแปรเป็นท่วงท่าเคลื่อนไหวโดยร่างกาย กิจกรรมวันที่ห้า เรียกว่าวันแห่งดินแดนอัศจรรย์อันเร้นลับ เป็นการสลายขอบเขตระหว่างโลกที่รู้สำนึกกับโลกที่ไร้สำนึก ด้วยการใช้บทนำจินตนาการและการทำงานกับลมหายใจ (Breathwork) และวันที่หกวันสุดท้าย คือวันแห่งการกลับคืนของเหล่าฮีโร่ / ฮีโรอีน ผู้ซึ่งจะได้รับของขวัญชิ้นพิเศษที่เป็นคุณภาพหรือมุมมองใหม่แก่ชีวิต
ดูแล้ว กิจกรรมทั้งหลายมีความน่าสนใจ น่าเย้ายวนให้ได้ลองไม่น้อย จากประสบการณ์ของผู้รีวิว เห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้คือกิจกรรมหลักสำคัญ ที่โลกการเรียนรู้เชิงจิตวิญญาณแบบตะวันตกมักอ้างถึงและนำมาใช้กันกว้างขวางอยู่ ชุดกระบวนการมีกลุ่มก้อนและเส้นเรื่องค่อนข้างชัดเจน ผู้วิจัยอภิปรายกระบวนการข้างต้นเทียบเคียงกับหลักทฤษฎีทั้งสาม คือ TL, The Body’s Role, และ Change Process Theory ซึ่งสอดรับลงตัวกันอย่างดีทีเดียว
จากนั้น ผู้วิจัยซึ่งเคยมีประสบการณ์ตรงกับเวิร์กชอปนี้มาก่อนก็ได้อธิบายถึงระเบียบวิธีที่เธอใช้ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลในงานครั้งนี้ นั่นก็คือ การวิจัยแบบการเขียนเรียงความสั้นเชิงปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenologically Oriented Vignette Research) ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่ ระเบียบวิธีนี้หากดูเผิน ๆ อาจคล้ายกับการวิจัยเชิงคุณภาพทั่วไป ที่ผู้วิจัยเน้นเก็บข้อมูลเชิงลึกด้วยการพรรณนาเรื่องราวอย่างมีรายละเอียด เพื่อนำไปสู่การถอดประเด็นสำคัญที่ก่อร่างสร้างความหมายให้กับปรากฏการณ์นั้น ๆ ซึ่งในความเป็นจริง การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพก็สามารถฉายภาพและเก็บรายละเอียดของข้อค้นพบในการจัดกระบวนการเรียนรู้ลักษณะนี้ได้ดีและก็เป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปมาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในงานวิจัยนี้ สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ “ตัวผู้วิจัย” เอง ที่ไม่มากก็น้อยย่อมมีส่วนเกี่ยวสัมพันธ์กับการได้มาซึ่งความเป็นจริงของข้อมูลอยู่ โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และนี่คือหัวใจสำคัญประการหนึ่งของการศึกษาวิจัยแบบจิตวิญญาณ
ในการศึกษาของโลกกระแสหลัก มักนิยมแยกผู้วิจัยออกจากสิ่งที่ถูกวิจัยอย่างชัดเจน ไม่ให้แปดเปื้อนถึงกัน ด้วยความเชื่อที่ว่า ความเป็นตัวผู้วิจัยจะทำให้สิ่งที่ถูกค้นพบนั้นไม่เป็นกลาง และพอมันไม่เป็นกลาง มันก็จะไม่ถูกต้องและไม่มีความหมาย! แต่ในงานนี้ ผู้วิจัยมองว่า การมีส่วนร่วมของผู้วิจัย (จะด้วยการสังเกตหรือการเข้าร่วมใด ๆ) นั้นคือ “ประสบการณ์ร่วมประสบ” หรือ Co-experienced Experience ที่นำมาซึ่งความบรรสานสอดคล้องและอารมณ์ร่วมระหว่างตัวนักวิจัยและปรากฏการณ์ที่ถูกศึกษา การบรรสานที่ว่านี้กับการเปิดรับของตัวผู้วิจัยคือสิ่งที่สำคัญมากของงานวิจัยแนวนี้ (Vignette Research) ด้วยความเชื่อที่ว่า เรารับรู้โลกผ่านเนื้อตัวร่างกายเสมอและเราไม่เคยแยกขาดจากกันและกัน
นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมอยู่ในเวิร์กชอปด้วยแล้ว ผู้วิจัยยังเก็บข้อมูลของผู้เข้าร่วมผ่านการสัมภาษณ์รายบุคคล (ตามสมัครใจ) หลังจบการอบรมทันที และอีกครั้งตอน 6 เดือนหลังจากนั้น จากนั้น ผู้วิจัยทำการเขียนเรียงความสั้นเพื่อบอกเล่าฉากประสบการณ์และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของผู้เข้าร่วมตามที่ได้ร่วมรับรู้และสัมภาษณ์พูดคุยมา ผู้วิจัยสะท้อนใคร่ครวญสมมุติฐานความเชื่อ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางในกระบวนการอบรม ด้วยการอ้างอิงกลับไปที่การจดบันทึกภาคสนามด้วย จากนั้น จึงอ่านวิเคราะห์บทสัมภาษณ์และเรียงความที่เขียนขึ้นนั้น เพื่อค้นหาปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงในบุคคลที่เกิดขึ้น รวมถึงสรุปประเด็นและโครงสร้างที่เป็นปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น นำไปสู่การเขียนเรื่องเล่าสะเทือนอารมณ์อันเข้มข้น เพื่อสรุปเป็นความเข้าใจใหม่อีกครั้งของผู้วิจัยที่มีต่อประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมกลุ่มนี้ อนึ่ง ผู้วิจัยมีประสบการณ์ร่วมประสบกับผู้เข้าร่วมทั้งในระหว่างกระบวนการอบรม และในช่วงการสัมภาษณ์ด้วย ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการสังเกตอย่างลึกซึ้งถึงน้ำเสียง อารมณ์ และการแสดงออกต่าง ๆ ทางร่างกายด้วย
ประสบการณ์ Transformation
ผู้วิจัยเข้าไปสัมผัสประสบการณ์เป็นรายบุคคลที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภายในที่เกิดขึ้น แล้วสกัดส่วนแห่งประสบการณ์เหล่านั้นออกมานำเสนอ ทั้งที่พบในการสัมภาษณ์และในการเขียนเป็นเรียงความสั้น สรุปสั้น ๆ เป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้
– การได้พูดอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองออกมาได้อย่างอิสระ ไม่ต้องเก็บกด และปราศจากการถูกตัดสิน รวมถึงการได้รู้จักและรับรู้ความรู้สึกทางร่างกายใหม่ ๆ มันเป็นมุมมองใหม่ต่อการรับรู้ความรู้สึกในตนเอง หลายคนสะท้อนว่า พอได้ทำแบบนี้แล้ว มันรู้สึกมีชีวิตชีวา กระจ่างใส และมีพลัง อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้อยากใช้ชีวิตที่จริงแท้มากขึ้น
– การได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมเวิร์กชอปตลอด 24 ชั่วโมงทั้งหกวัน แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังเป็นตัวของตัวเองได้ ได้รับการยอมรับ ได้รับการฟังและมองเห็นจากเพื่อน ๆ โดยเฉพาะมีคนหนึ่งที่เล่าว่า ตอนที่ได้ขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ในฐานะฮีโรอีน ที่ได้เป็นตัวตนในด้านใหม่ให้เพื่อนเห็น มันรู้สึกดี
– ตอนนำจินตนาการ ผู้เข้าร่วมบางคนได้รับประสบการณ์ของการเห็นภาพหรือความรู้สึกภายในใจ นำไปสู่สัญลักษณ์บางอย่างที่มีความหมายสำคัญสำหรับเจ้าตัว
ตอนเข้าวงตอนเช้า แพทริคพูดด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นและเร็วว่า “ตอนที่ผมเจอฮีโร่ของผม มันช่างจริงและประหลาดในเวลาเดียวกัน เขาหน้าตาเหมือนปู่ของผม เป็นครูแก่ ๆ ในโรงเรียนมัธยมของผม และยังดูเหมือนกัปตันแจ๊ค สแปร์โรว์ด้วย” เขายิ้ม “ผมรับรู้ได้ถึงการมีภูมิปัญญา มีกำลัง และขณะเดียวกันก็มีความแปลกไม่เหมือนใคร” ใบหน้าดูภูมิใจมาก
การเผชิญหน้ากันระหว่างฮีโร่กับปิศาจ
ผู้วิจัยบรรยายประสบการณ์ในส่วนนี้ว่ามีความสำคัญสำหรับผู้เข้าร่วม ด้วยเป็นประสบการณ์ที่เข้มข้นและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสิ่งที่ส่งผลมากคือส่วนของกิจกรรมที่เข้าไปทำงานกับร่างกายและอารมณ์ ไม่ใช่กับด้านความคิดอย่างเดียว ดังตัวอย่างของคลาร่าตอนที่ทำกิจกรรมบทสนทนาภายในกับตัวเอง
คลาร่ายืนขึ้นบนฝั่งของฮีโรอีน แขนและมือของเธอวาดขึ้นจากล่างขึ้นบน แล้วพูดออกมาด้วยเสียงที่ดังและชัดว่า “ความปรารถนาของฉันคือการพูดความต้องการของตัวเอง ให้แก่สามี เพื่อน เพื่อนร่วมงาน และทุก ๆ คน” เธอหยุดพักหายใจก่อนพูดต่อ “ฉันจะไม่ถูกเหยียบย่ำอีกแล้ว” แล้วเอามือมาวางบนสะโพก ……. จากนั้น เธอก็เปลี่ยนข้างอย่างลังเลมาอยู่ฝั่งของปิศาจ ยิ้มและเลิกคิ้ว แล้วพูดออกมาด้วยน้ำเสียงที่เศร้า เงียบเบา แต่เน้นคำมากขึ้น “เธอไม่คิดว่าตัวเธอจะทำแบบนั้นได้จริง ๆ หรอก ฉันได้แต่หัวเราะ” แล้วเธอก็ยิ้มเยาะ “น่ารักเสียจริงที่เธอทำตัวเองให้ดูน่าขัน เธอคิดเหรอว่าใครเขาจะแคร์ว่าเธอต้องการอะไร?”
ข้อความสั้นข้างต้น ผู้วิจัยได้นำมาสู่การเห็นความหมายใหม่ในตัวของปิศาจของคลาร่า นั่นก็คือ ปิศาจที่คลาร่าแสดงออกมานั้น แท้จริงกำลังปกป้องตัวเธออยู่จากการดูอ่อนแอต่อหน้าคนอื่น นั่นทำให้เธอเริ่มเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อปิศาจไปในทางผ่อนคลายและมีพลังมากขึ้น ความรู้สึกนี้ถูกส่งเสริมให้เด่นชัดขึ้นตอนเธอได้เต้น เธอเล่าว่า เธอไม่เคยรู้สึกเข้มข้นแบบนี้มาก่อน ทั้งโกรธและสัมผัสถึงความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างรุนแรง มันเป็นความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะแสดงออกความเป็นตัวเอง …
ขณะที่ผู้เข้าร่วมคนอื่น ๆ ก็ได้ใช้เวลาทำงานกับประสบการณ์การได้สนทนากันระหว่างเสียงของฮีโร่กับปิศาจในตัวเอง จนสัมผัสแง่มุมใหม่ ๆ และทั้งปิศาจและฮีโร่ได้เห็นลึกลงไปในใจของกันและกันมากขึ้น
ผู้วิจัยทิ้งท้ายด้วยการอภิปรายว่า จากประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมและประสบการณ์ร่วมที่ผู้วิจัยมี พบว่าโมเม้นต์สำคัญที่สุดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ก็คือตอนที่ความขัดแย้งภายในได้มาปะทะกัน กล่าวคือตอนที่ผู้เข้าร่วมได้ประสบกับทางแยกในตัวเอง (Disorienting Dilemma) อย่างเข้มข้นทั้งในเชิงความคิด ร่างกาย และอารมณ์ความรู้สึก สาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงก็คือการได้เกิดความเข้าใจและยอมรับได้กับทั้งสองด้านในตน คือฮีโร่ / ฮีโรอีน กับปิศาจผู้ต่อต้าน ผู้วิจัยเสริมจากประสบการณ์ของตัวเองตรงนี้ว่า ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ การได้เจอ Dilemma และการมีความตระหนักรู้ใน Pattern ที่ตัวเองเป็น (ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ด้วยการเข้าไปสัมผัสและเป็นมันอย่างแนบแน่นทั้งโดยความคิด ร่างกาย และอารมณ์ จุดสำคัญคือการได้ลองลงไปเป็นคุณภาพเหล่านี้ด้วยตัวเอง ทั้งทางร่างกายและอารมณ์ความรู้สึก
ปัจจัยเสริมอื่น ๆ ได้แก่ ความปลอดภัยและไว้วางใจได้ของทีมกระบวนกร เพื่อนำไปสู่การสร้างสัมพันธภาพในกลุ่มผู้เข้าร่วม ซึ่งนี่จะนำพาไปสู่กระบวนการสำคัญคือ การสร้างการตระหนักรู้ในความรู้สึกและประสบการณ์ทางร่างกาย ช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถสะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมาได้อย่างรู้ตัว
การทำงานแบบนี้เป็นการทำงานแบบ Collective นั่นคือประสบการณ์ของคน ๆ หนึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของคนอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น กระบวนกรที่นำกระบวนการจำเป็นต้องเป็นตัวจริงและมีประสบการณ์ตรงกับเรื่องเหล่านี้ และเคยทำงานภายในกับตัวเองมาก่อน นอกจากนี้ กิจกรรมที่หลากหลายสามารถถูกใช้และออกแบบเพื่อการเรียนรู้ในหลากหลายด้านของความเป็นมนุษย์ได้
ผู้วิจัยแนะเสริมสำหรับนักการศึกษาว่า ในกระบวนการเรียนรู้ เราจะสามารถสร้างพื้นที่ประสบการณ์การรับรู้อย่างหลากหลายได้อย่างไร ให้เป็นการรับรู้ทั้งทางร่างกาย ทางความคิด จินตนาการ ทางอารมณ์ ทางญาณทัศนะ และอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่รูปแบบการเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งได้ เป็นการรับรู้บนความสัมพันธ์ที่คืนพลังอำนาจ การตระหนักรู้ และความเข้าอกเข้าใจให้ตัวเอง ผู้คน ชุมชน และโลกได้ ประสบการณ์การเรียนรู้เช่นนี้จะบังเกิดขึ้นได้ ด้วยการที่คน ๆ หนึ่งมีสติ มีความเป็นเนื้อเป็นตัวกับประสบการณ์ มีความเป็นปัจจุบันขณะ และมีความเปราะบางอ่อนไหว รวมถึงการแผ่ขยายความเข้าอกเข้าใจนี้ต่อกัน เราสามารถส่งเสริมให้ชั้นเรียนสามารถสร้างประสบการณ์ทำนองนี้ให้เกิดขึ้นได้ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และปราศจากความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ เพื่อให้ประสบการณ์ลึกซึ้งเหล่านี้สามารถถูกเผยออกมาได้
จะเห็นได้ว่า การศึกษากระบวนการเรียนรู้ในลักษณะอย่างเป็นจิตวิญญาณแบบนี้ อาจให้ผลและข้อค้นพบที่ต่างออกไปจากการศึกษาวิจัยทั่วไป (เช่นด้วยแบบสอบถาม หรือ Focus Group) อยู่ ตรงที่ ประสบการณ์ร่วมที่ผู้วิจัยมีเอง จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะล้วงลึกเข้าไปในปรากฏการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ ให้ได้เข้าใจว่า มันมีการทำงานเชิงลึกอย่างไร อะไรคือแก่นสำคัญที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในผู้เข้าร่วม ซึ่งหากขาดการเห็นตรงนี้ไป ข้อค้นพบที่ได้อาจเป็นแค่การอรรถาธิบายไปตามเนื้อผ้าที่มองเห็นหรือรายงานผลเชิงพฤติกรรมที่ผิวเผิน การได้เห็นกลไกการทำงานเชิงจิตวิญญาณเช่นนี้ได้ อีกนัยหนึ่งคือการได้ต่อยอดทางทฤษฎีและยังเอื้อให้การนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทอื่น ๆ สามารถยังประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
-จบตอน-
วันที่เขียน: 26 กุมภาพันธ์ 2566
แหล่งข้อมูล: Homemade 35